Friday, November 11, 2005

กลุ่มผู้มีคุณวุฒิ และ/หรือ ประสบการณ์ทางการแสดง

กลุ่มผู้มีคุณวุฒิ และ/หรือ ประสบการณ์ทางการแสดง ประกอบด้วยสมาชิกผู้มีคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดง หรือเป็นผู้มีประสบการณ์ทางการแสดง รวมทั้งมีความสนใจต่อศิลปะการแสดงแขนงต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงในภาพยนตร์ไทย กลุ่มของเราเกิดขึ้นโดยมิได้มุ่งหวังการแสวงผลทางการเงินและดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นอิสระ ไม่อิงต่อองค์กรใดๆ จุดมุ่งหมายสำคัญคือการเป็นองค์ประกอบหนึ่งในโลกศิลปะการแสดงในด้านการสนับสนุนและการให้กำลังใจ แด่เหล่าศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานทางการแสดงและภารกิจหลักของกลุ่ม คือการประกาศเกียรติคุณทางการแสดง สำหรับเหล่านักแสดงในวงการภาพยนตร์ไทย

ภารกิจและวัตถุประสงค์
-พิจารณาผลงานการแสดงของนักแสดงในภาพยนตร์ไทยในรอบปี รวมถึงนักแสดงอาวุโสผู้สร้างสรรค์ผลงานในอาชีพการแสดงอันควรแก่การยกย่องและจดจำ ในฐานะบุคคลแห่งวงการภาพยนตร์ไทย และประกาศเกียรติคุณทางการแสดงผ่านสื่อ
-เสนอมุมมองแก่สังคมอีกมุมมองหนึ่ง ในทางสร้างคุณค่าแก่ศิลปะการแสดงในภาพยนตร์ไทยจากการพิจารณาโดยผู้มีคุณวุฒิ และ/หรือ ประสบการณ์ทางการแสดง
- เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและให้กำลังใจ แด่เหล่าศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานการแสดงดีเด่นในภาพยนตร์ไทยในรอบปี
- เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสร้างคุณค่าแก่การศึกษาวิชาศิลปะการแสดง และอาชีพนักแสดง
- ระดมพลังทางความคิดของกลุ่มผู้มีคุณวุฒิ และ/หรือ ประสบการณ์ทางการแสดง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการจรรโลงโลกแห่งศิลปะการแสดง

รายละเอียดการดำเนินงาน
-พิจารณาผลงานการแสดงในภาพยนตร์ไทยในรอบปี เพื่อคัดสรรนักแสดง และทีมนักแสดงผู้มีผลงานที่ควรได้รับการเสนอชื่อในรอบสุดท้าย เพื่อการประกาศเกียรติคุณทางการแสดง๕ สาขา คือ นักแสดงหญิงยอดเยี่ยมในบทนำ นักแสดงชายยอดเยี่ยมในบทนำ นักแสดงหญิงยอดเยี่ยมในบทสมทบนักแสดงชายยอดเยี่ยมในบทสมทบ และทีมนักแสดงยอดเยี่ยม รวมถึงคัดสรรนักแสดงอาวุโสผู้มีผลงานการแสดงภาพยนตร์ไทย อันควรแก่การยกย่องและจดจำ และนักแสดงผู้มีผลงานที่ควรแก่การจดจำหรือได้รับความสนใจ ผู้เสียชีวิตไปแล้ว เพื่อการประกาศเกียรติคุณสดุดี
-ประกาศรายชื่อนักแสดง และทีมนักแสดงจากภาพยนตร์ ผู้ผ่านการคัดสรรสู่รอบสุดท้ายในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยประกาศรายชื่อทั้งหมดในฐานะนักแสดงดีเด่น และทีมนักแสดงดีเด่นประจำปี รวมทั้งประกาศรายชื่อนักแสดงอาวุโสผู้ควรได้รับการประกาศเกียรติคุณสดุดีประจำปี
- ตัดสินและประกาศรายชื่อนักแสดงยอดเยี่ยมและทีมนักแสดงยอดเยี่ยมประจำปี รวมทั้งนักแสดงอาวุโส และนักแสดงผู้ล่วงลับ ผู้ได้รับการประกาศเกียรติคุณสดุดี ภายในช่วงปีนั้น โดยกำหนดวันเวลาตามความเหมาะสมต่อไป

หลักการพิจารณาเพื่อการประกาศเกียรติคุณทางการแสดงสำหรับภาพยนตร์ไทยในรอบปี
พิจารณาจากผลงานการแสดงตามบทบาทของนักแสดงในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ เป็นสำคัญ โดยภาพยนตร์เหล่านั้นต้องเข้าฉายในโรงนานอย่างน้อย๓ วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มฉายอย่างเป็นทางการ สำหรับรอบปีในการพิจารณา กำหนดตั้งแต่วันที่๑ มกราคม ถึง ๓๑ ธันวาคม

ผู้ดำเนินการ
- จตุพร บุญ-หลง - หัวหน้ากลุ่มฯ และผู้ดำเนินการการพิจารณาและตัดสิน
- อาจารย์ศศโสฬส จิตรวานิชกุล
- บุญทวี สิริเวสมาศ (เดวิด บุญทวี)
- เอื้ออุษา ทองสุข
คณะที่ปรึกษาพิเศษ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร
- รองศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง
- อาจารย์กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จาตุรี ติงศภัทิย์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชุติมา ประกาศวุฒิสาร
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรเดช โชติอุดมพันธ์
- คุณศศิกาญจน์ เอี่ยมพรชัย
- อาจารย์กฤตยา อกนิษฐ์
คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิและประสบการณ์ด้านการละคอน การแสดง
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพร โถปัญญา ฟูราช
- อาจารย์สุธิดา กัลยาณรุจ
- อาจารย์นิมิตร พิพิธกุล
- อาจารย์ปวิตร มหาสารินันทน์
- อาจารย์ดังกมล ณ ป้อมเพชร
- อาจารย์ ดร. กุลธิดา มณีรัตน์
- อาจารย์อาทรี วณิชตระกูล
- อาจารย์จันทนา วงศ์ธนาศิริกุล
- อาจารย์พิศาล พัฒนพีระเดช
- อาจารย์พนิดา ฐปนางกูร
- อาจารย์ภาสกร อินทุมาร
- อาจารย์วัสสาวดี วัฒนสุวรรณ
- อาจารย์สุมณฑา สวนผลรัตน์
- อาจารย์พันพัสสา ธูปเทียน
- อาจารย์ษัณปการ แสงจันทร์
คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิและประสบการณ์ด้านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย
- คุณอดิศักดิ์ เซ็กรัตน์
- อาจารย์โดม สุขวงศ์
- คุณมนัส กิ่งจันทร์
- คุณมานัสศักดิ์ ดอกไม้

การประกาศเกียรติคุณฯ ครั้งที่ ๒ ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๗

ผลการประกาศเกียรติคุณฯ

เกียรติคุณสดุดี
อมรา อัศวนนท์ และ อดุลย์ ดุลยรัตน์

นักแสดงหญิงยอดเยี่ยมในบทนำ
แอน ทองประสม - "เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก"

นักแสดงหญิงดีเด่นในบทนำ
บงกช คงมาลัย - "ไอ้ฟัก"
ภุมวารี ยอดกมล - "คน ผี ปีศาจ"
วนิดา เฟเวอร์ - "ทวิภพ"
สิริมา ตันประเสริฐ - "ธิดาช้าง"

นักแสดงชายยอดเยี่ยมในบทนำ
บัลลพ ล้อมน้อย - "สัตว์ประหลาด"

นักแสดงชายดีเด่นในบทนำ
ต้วนหลง - "ซี-อุย"
ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์ - "ไอ้ฟัก"
อดุลย์ ดุลยรัตน์ - "โหมโรง"
อรรถพร ธีมากร - "เดอะเล็ตเตอร์ จดหมายรัก"

นักแสดงหญิงยอดเยี่ยมในบทสมทบ
อมรา บุรานนท์ - "คน ผี ปีศาจ"

นักแสดงหญิงดีเด่นในบทสมทบ
ฐิตารัตน์ หาญฤทธิ์ณรงค์ - "กั๊กกะกาวน์"
เทวีรัตน์ ลีลานุช - "ทวิภพ"
ภัทรียา สนิทธิเวทย์ - "หมานคร"
ศรีสุภลักษณ์ เวชวิรุฬห์ - "ไอ้ฟัก"


นักแสดงชายยอดเยี่ยมในบทสมทบ
สุธีรัชย์ ชาญนุกูล - "๒๕๐๘ ปิดกรมจับตาย"

นักแสดงชายดีเด่นในบทสมทบ
ชูศักดิ์ เอี่ยมสุข - "ฟอร์มาลีนแมน รักเธอเท่าฟ้า"
นิรุตติ์ ศิริจรรยา - "ทวิภพ"
พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง - "โหมโรง"
สมภพ เบญจาธิกุล - "โหมโรง"

ทีมนักแสดงยอดเยี่ยม
ทีมนักแสดงและทีมผู้พากย์จากเรื่อง "หัวใจทรนง"

ทีมนักแสดงดีเด่น
ทีมนักแสดงจากเรื่อง "คน ผี ปีศาจ"
ทีมนักแสดงจากเรื่อง "ทวิภพ"
ทีมนักแสดงจากเรื่อง "โหมโรง"
ทีมนักแสดงจากเรื่อง "ไอ้ฟัก"

ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๘ ที่สวนสันติชัยปราการ

ขอขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับแรงใจจากท่านผู้ชมและผู้ให้การสนับสนุน

Saturday, November 05, 2005

"มันตา" ศิลปะการแสดง

ตั้งอยู่ในซอยวิภาวดีรังสิต ๕๘ (ฝั่งตรงข้ามนอร์ธปาร์ค ฝั่งเดียวกับโรงเรียนตำรวจ บริเวณใกล้ช่วงแยกหลักสี่) ดำเนินการจัดงานแสดงบนเวที ในรูปแบบที่หลากหลายในทุกพื้นที่ ในโอกาสต่างๆ พัฒนาและส่งเสริมผู้ผลิตสื่อการแสดง รับจัดการอบรมบุคลากรเพื่อสื่อการแสดง คัดเลือกและเปิดสอนสำหรับนักแสดงภาพยนตร์ไทย ละครเวที
อำนวยการและควบคุมการสร้างสรรค์งานโดย อาจารย์นิมิตร พิพิธกุล (พี่หนืด)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ๐-๒๕๗๙-๐๙๗๐

Friday, November 04, 2005

"ชีวิตติดเบอร์: ตัวตนและเพศวิถีของเกย์ "ควิง" ในเซานา M"

วิทยานิพนธ์ของ จตุพร บุญ-หลง ได้รับการพิจารณาและตัดสินให้เป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่น สาขาสตรีศึกษา มธ. ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๗
ผู้เขียนขอขอบพระคุณคณะกรรมการผู้ร่วมลงมติเสนอชื่อผลงานนี้เพื่อรับการพิจารณา อันประกอบด้วย
- อาจารย์ ดร.ชุติมา ประกาศวุฒิสาร (ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ) อาจารย์ที่ปรึกษาและกรรมการวิทยานิพนธ์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมสุข หินวิมาน (สาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์ฯ มธ.) ประธานกรรมการวิทยานิพนธ์
- อาจารย์ รุจน์ โกมลบุตร (สาขาวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์ฯ มธ.) กรรมการวิทยานิพนธ์
รวมทั้งขอขอบพระคุณคณะกรรมการผู้พิจารณาและตัดสิน และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงทุกท่านที่ให้แรงใจสนับสนุน และ "เซบาสเตียน" และ "เก๋" ผู้ร่วมงานทั้งสองของผู้เขียน
ความสำเร็จขั้นนี้ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่าตัวเลขอายุมิใช่สิ่งกำหนดความเยาว์ และยังมีสิ่งที่ต้องศึกษาเรียนรู้อีกมากมาย
ขอเชิญท่านผู้สนใจอ่านผลงานนี้ได้ที่ห้องสมุด มธ. ทั้งสามวิทยาเขต (ท่าพระจันทร์, รังสิต และลำปาง) โดยบุคคลภายนอกเสียค่าบำรุงคนละ 20 บาท/วัน และที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน (ในรูปแบบซีดี ประมาณช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นไป) โดยไม่เสียค่าเข้าใช้ห้องสมุด สำหรับผู้อ่านที่ยังไม่อยู่ในช่วงวัยเข้าเรียนชั้นอุดมศึกษา ควรอ่านโดยขอคำปรึกษาจากผู้ปกครอง

Thursday, November 03, 2005

คุณลักษณะดีเด่นของ "ชีวิตติดเบอร์ฯ"

คัดลอกจากแบบประเมินผลของอาจารย์ที่ปรึกษาและกรรมการวิทยานิพนธ์ ที่เผยแพร่ในงานสัมมนาฯ ทั้งนี้โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์สำคัญสามประการคือ ความเป็นเอกลักษณ์ (originality) ในทางวิชาการ การให้ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ (contribution) ต่อทางวิชาการ และการมีระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้องและการมีความเป็นไปได้ในทางวิชาการ
๑. ความเป็นเอกลักษณ์ในทางวิชาการปรากฏให้เห็นดังนี้
- ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนและเพศวิถีของเกย์ กับบทบาทของเซานาในการสร้างจิตสำนึกของความเป็นเกย์ ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังไม่มีผู้ทำการศึกษาวิจัยในระดับวิทยานิพนธ์มาก่อนในประเทศไทย
- นำเสนอมิติทางตัวตนของเกย์ที่มีความสลับซับซ้อน โดยเชื่อมโยงกับปัจจัยทางสังคมต่างๆ เช่น ชนชั้น อาชีพ ชาติพันธุ์ เข้ากับเพศวิถี เพื่อแสดงให้เห็นความหลากหลายที่ปรากฏภายในกลุ่มเกย์
- นำประสบการณ์ของผู้ศึกษาที่มีเพศสถานะเกย์อย่างเปิดเผย และเป็นผู้ใช้บริการในเซานามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการศึกษาวิเคราะห์
- นำเสนอการศึกษาเรื่องตัวตนและเพศวิถีของเกย์ในเซานาในเชิงบูรณาการ โดยผสมผสานทฤษฎีทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เช่น ทฤษฎีการเล่าเรื่อง (narrative theories) ทฤษฎีวัฒนธรรมศึกษา (cultural studies) และทฤษฎีสตรีนิยม (feminist theories)
๒. มีการให้ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อทางวิชาการด้วยเหตุผลดังนี้
- ผู้วิจัยนำแนวคิดของ Judith Butler ที่พูดถึงการสวมบทบาททางเพศ (performativity) ผ่านกระบวนการประกอบสร้างตัวตน (identification) ที่ดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นอื่น (disidentification) มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาอัตลักษณ์ของเกย์ เพื่อแสดงให้เห็นกระบวนการเปลี่ยนผ่าน เลื่อนไหล ของบุคคลที่นิยามตัวเองว่าเป็นเกย์
- งานวิจัยแสดงให้เห็นความสำคัญของเซานา ในฐานะที่เป็นพื้นที่พิเศษที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพื้นที่ประกอบพิธีกรรม และบทบาทของพื้นที่ดังกล่าว ในการเรียนรู้เพศวิถีร่วมกันของกลุ่มเกย์ ผ่านทางการจัดองค์ประกอบของพื้นที่ กิจกรรมที่กลุ่มเกย์ร่วมกันทำในเซานา และการเรียนรู้ภาษา (วัจนะภาษาและอวัจนะภาษา) ตลอดจนสัญญะต่างๆ ร่วมกัน
- งานวิจัยชิ้นนี้ปรับเปลี่ยนความเข้าใจของสังคมที่เกี่ยวกับกลุ่มเกย์และเพศวิถีของเกย์ ซึ่งมักจะจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องเพศเท่านั้น โดยชี้ให้เห็นการเมืองที่แฝงอยู่ในเพศวิถีของเกย์ การเข้าเซานาของกลุ่มเกย์จึงไม่เป็นไปเพื่อการแสวงหาความสำราญทางเพศอย่างเดียว แต่ยังเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเสริมพลังและเพื่อสร้างเครือข่ายของกลุ่มเกย์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเกย์ในโลกภายนอก
- การใช้ทฤษฎีการเล่าเรื่องในงานวิจัยชิ้นนี้ เผยให้เห็นความหลากหลายและซับซ้อนภายในกลุ่มเกย์ ซึ่งเป็นชุมชนที่เกย์มีส่วนร่วมในการอ่าน ตีความ วิเคราะห์ ประสบการณ์ของตนเอง และให้คำนิยามแก่ตัวตนและเพศวิถีของตนจากมุมมองที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางชนชั้น อาชีพ ชาติพันธุ์ เป็นต้น
๓.มีระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้อง และมีความเป็นไปได้ทางวิชาการด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
- เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ผู้วิจัยทำการค้นคว้าหาข้อมูล โดยการลงพื้นที่ในเซานาและสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย และนำเอาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมาเป็นเครื่องมือในการอ่าน วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลได้อย่างครอบคลุมตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ และนำเสนอผลการวิจัยได้อย่างละเอียดลึกซึ้งและชัดเจน
- ใช้วิธีวิทยาแนวสตรีนิยม โดยเน้นวิธีวิทยาของกลุ่มสตรีนิยมนอกกระแสหลัก ดังที่ปรากฏในงานของ Patricia Hill Collins และ bell hooks ซึ่งให้ความสำคัญแก่การเชื่อมโยงประสบการณ์เข้ากับทฤษฎี พื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ บุคคลกับชุมชน แนวทางดังกล่าวมีความสำคัญต่อการสร้างองค์ความรู้ ที่มีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ของกลุ่มคนชายขอบ รวมถึงกลุ่มเกย์
- ส่งเสริมการสร้างชุมชนของการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้วิจัยกับผู้ให้ข้อมูล งานวิจัยชิ้นนี้จึงไม่สิ้นสุดที่การนำข้อมูลจากผู้ให้สัมภาษณ์มาวิเคราะห์ประมวลผลโดยผู้วิจัย เพื่อนำเสนอต่อสังคมภายนอก แต่ดำเนินต่อไปโดยให้ผู้วิจัยนำผลการศึกษาวิเคราะห์กลับไปให้กลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ได้อ่าน และแสดงความคิดเห็นต่อผลการศึกษาวิเคราะห์ วิธีวิจัยดังกล่าวเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างผู้วิจัยกับกลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ (อันได้แก่เซบาสเตียนและเก๋ ผู้กลายเป็นผู้ร่วมงานของผู้วิจัย)
- เลือกใช้การนำเสนอแบบอัตชาติพันธุ์วรรณา (autoethnography) เพื่อสอดคล้องกับระเบียบวิธีวิจัยในแนวสตรีนิยม โดยเปิดโอกาสให้ผู้วิจัยซึ่งแสดงสถานภาพเกย์ควิงอย่างเปิดเผย และเป็นผู้ที่เรียนรู้เพศวิถีเกย์ผ่านประสบการณ์ในเซานา ได้มีส่วนในการแบ่งปันข้อมูลกับกลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ และนำประสบการณ์ของตนมาวิเคราะห์ร่วมกันกับข้อมูลที่ได้จากผู้ให้สัมภาษณ์ งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นการศึกษากลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ และการศึกษาผู้ศึกษาไปพร้อมๆ กัน