Thursday, May 31, 2007

“อักษรพาที”

รายการวิทยุของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อการเผยแพร่วิชาการด้านอักษรศาสตร์ ออกอากาศทางสถานีวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz. ทุกวันเสาร์ เวลา ๘.๓๐ – ๘.๕๕ น.

เชิญติดตามข่าวสารและกิจกรรมของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้ที่ www.arts.chula.ac.th/index_th.html
และเชิญติดตามข่าวสารและกิจกรรมของภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ โดยคลิกที่หัวข้อ Comparative Literature สำหรับข่าวสารและกิจกรรมของหลักสูตรปริญญาเอกสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ เมื่อคลิกหัวข้อดังกล่าวแล้วโปรดคลิกที่หัวข้อ หลักสูตร หรือโปรดดูที่ www.phd-lit.arts.chula.ac.th/

Wednesday, May 02, 2007

พิธีเปิดประติมากรรมพระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม

ในโอกาส ๑๕๐ ปี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลย์วงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ
๑๖ เมษายน ๒๕๕๐ ณ หอภาพยนตร์แห่งชาติ ต. ศาลายา จ. นครปฐม

(เนื้อความคัดจากสูจิบัตรของหอภาพยนตร์แห่งชาติ)
พระองค์เจ้าทองแถมถวัลย์วงศ์ ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ถ่ายทำภาพยนตร์ และทรงเป็นผู้ถ่ายทำภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓
พระองค์ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ ทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ประพาสประเทศต่างๆ ในยุโรป ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ และทรงซื้อกล้องถ่ายภาพยนตร์ยี่ห้อ ปาเต๊ะ เข้ามาสยาม แต่ไม่พบหลักฐานว่าทรงเริ่มถ่ายภาพยนตร์เมื่อใด จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๔๓ จึงพบหลักฐานว่าทรงเป็นที่รู้กันทั่วไปในกรุงเทพฯ ว่าทรงเป็นช่างถ่ายทำภาพยนตร์ และทรงเป็นผู้จัดฉายภาพยนตร์ โดยเก็บค่าดูจากสาธารณชนด้วย
ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ทรงตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง ประพาสประเทศต่างๆ ในยุโรป ครั้งที่ ๒ และทรงซื้อกล้องถ่ายภาพยนตร์รุ่นใหม่ คุณภาพดีเยี่ยม ยี่ห้อ โกว์มองโครโน กลับเข้ามาในสยาม
ผลงานภาพยนตร์เกือบทั้งหมดของเจ้านายพระองค์นี้ ได้แก่พระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงถ่ายทำนับจากปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ไปจนสิ้นรัชกาล คือ พ.ศ. ๒๔๕๓
พระองค์เจ้าทองแถมถวัลย์วงศ์ สิ้นพระชนม์เมื่อ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ในรัชกาลที่ ๖
แม้ปัจจุบันเรายังไม่พบผลงานภาพยนตร์ใดๆ ของพระองค์ท่านเหลือรอดอยู่ โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า พระองค์เจ้าทองแถมถวัลย์วงศ์ ทรงอยู่ในฐานะอันสมควรเป็น พระบิดาแห่งภาพยนตร์ไทย
หอภาพยนตร์แห่งชาติจัดทำโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ และในโครงการนั้น มีแผนงานจัดสร้างประติมากรรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลย์วงศ์ ขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเล็กน้อย ประดิษฐานไว้หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจำลองแบบมาจากอาคารโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง เพื่อเป็นการน้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติยศ ของพระองค์ในฐานะพระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม ให้ปรากฏแก่โลกสืบไป
การจัดสร้างประติมากรรมนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ริช สปอร์ต จำกัด ซึ่งได้บริจาคเงินในโครงการ CONVERSE SAY PEACE เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นทุนในการจัดสร้าง ผ่านมูลนิธิหนังไทย ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
มูลนิธิหนังไทย ได้มอบหมายให้ นายโสภิส พุทธรักษ์ นายช่างประติมากรรม เป็นผู้ออกแบบและปั้นประติมากรรมพระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม เพื่อหล่อเป็นประติมากรรมโลหะ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลย์วงศ์ ขนาดใหญ่กว่าจริงเล็กน้อย ทรงชุดราชปะแตน นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมหมวกกะโล่ กำลังทรงกล้องถ่ายภาพยนตร์โกว์มองโครโน ซึ่งติดตั้งบนหยั่งสามขา เน้นให้เห็นพระบุคลิกภาพทรงเป็นผู้บุกเบิกภาพยนตร์อย่างโดดเด่นของสยาม
การจัดสร้างประติมากรรมนี้ใช้เวลาสองปีเศษ ทำพิธีเททองหล่อเมื่อ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่โรงหล่อบรรเจิด อ. กำแพงแสน จ. นครปฐม นำมาประดิษฐาน ณ แท่นศิลา จุดศูนย์กลางหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย เมื่อ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อให้ทันกำหนดการทำพิธีเปิด
วันที่ ๑๖ เมษายน เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลย์วงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์แห่งชาติเห็นว่าเป็นวันที่สมควรระลึกถึงพระองค์ท่าน จึงกำหนดกระทำพิธีเปิดพระรูปประติมากรรม พระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม และนับแต่บัดนี้จะถือให้วันที่ ๑๖ เมษายน ของทุกปีเป็นวันสรรพสาตร เพื่อการน้อมรำลึกถึงผู้เป็นบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม และขอเชิญชวนประชาชนมาร่วมชมและวางมาลัยรำลึก
ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้ ยังมีความสำคัญคือ เป็นวันครบ ๑๕๐ ปี วันคล้ายวันประสูติของ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลย์วงศ์ ด้วย การเปิดประติมากรรมพระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม จึงอยู่ในสมัยแห่งวาระอันเป็นมงคลยิ่ง